วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ช่างภาพข่าวโกอินเตอร์ จากกระเป๋ารถเมล์ ภารโรง ทหาร มาจับกล้องถ่ายรูป

วินัย ดิษฐจร เคยเป็นมาหมดแล้ว ทั้งกระเป๋ารถเมล์, ทหาร, คนงานในโรงงานผลิตยา, เออี, ภารโรง และคนทำหนังสือ ก่อนมาจบในสิ่งที่เขารักคือ ช่างภาพข่าว (Photojournalist) และช่างภาพสารคดี (Documentary Photographer)

ทั้งแดดแรง ลมร้อน ห่าฝน กระสุนปืน ระยะยืน และกำปั้น คือ ทั้งหมดหรือมากกว่านั้น ในนิยามที่ "ช่างภาพข่าว" คนหนึ่งต้องเผชิญเพื่อเดินเข้าสู่สนามความฝันของตนเอง

เส้นทางของวินัยไม่ง่าย



"วินัย ดิษฐจร" เป็นช่างภาพมายาวนาน 22 ปี ณ วันนี้ ที่ยืนของเขาชัดเจน สง่าผ่าเผย

ผลงานของเขาเคยตีพิมพ์ในสื่อระดับอินเตอร์ และสำนักข่าวต่างประเทศ ทั้ง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ , นิตยสารไทม์ , อินเตอร์เนชั่นแนล เฮอร์รัล ทริบูน , ยูโรเปียน เพรส เอเจนซี หรือ อีพีเอ และนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับตีพิมพ์ในเนเธอร์แลนด์  และฉบับภาษาไทย

ตั้งแต่ปี 2547 วินัยทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้ง กรีนพีซ ในประเด็นสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และมลภาวะทางน้ำ และการทำงานของทีมลูกเรือ เรนโบว์ วอริเออร์ ระหว่างการรณรงค์ต่อต้านการใช้ถ่านหิน


ภาพชุดสารคดีคนเก็บรังนก

วินัยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายระดับภูมิภาคจากสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในประเทศไทยหรือเอฟซีซีทีถึง2ครั้ง ได้รับรางวัลชนะเลิศภาพชุดสารคดี"ยิปซี ทะเล"จากนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกฉบับภาษาไทยในปี2545และรางวัลชนะเลิศ ภาพแห่งปีจากเอฟซีซีทีประจำปี2550

ผลงานล่าสุดของวินัย ที่วัดได้ว่าเขายังอยู่บนถนนสายนี้อย่างมั่นคง และยังไม่มีทางวางมือคือ งานภาพถ่ายสารคดีขาวดำชุด "ไฟใต้" บนปกเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ผลงานภาพสารคดีและภาพข่าวของวินัยทุกชิ้นเข้มข้น เขา "เคี่ยว" กับมัน ทำงานหนัก ลงลึก และศึกษาจริงจัง

คำว่า "โชคชะตา" ใช้อธิบายไม่ได้ในสนามข่าวและการทำงานของวินัย แน่ว่าศิลปะขับเคลื่อนวิชาชีพของเขา แต่คุณสมบัติที่เขามีควบคู่คือ การเป็นนักสู้ที่มีชั้นเชิงและอยู่กับความจริงของชีวิต


ผลงานในเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกเดือนพ.ค.

>>ถอดรหัสตัวหนังสือเป็นภาพ

วินัย ดิษฐจร เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง ดั้งเดิมรกรากอยู่คลองเตย กระทั่งอายุ 11 ปี ครอบครัวทั้ง 5 ชีวิต พากันขนข้าวของทั้งหมดที่มีขึ้นรถบรรทุก ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ตามความฝันของพ่อ ที่ต้องการละทิ้งงานประจำ และหอบเงินจำนวนหนึ่งออกจากเมืองไปมีไร่สวนเป็นของตัวเอง

ชีวิตในอีสาน ผนวกกับการที่ที่บ้านรักการอ่านคือ การบ่มเพาะให้เขาเป็นเด็กรักการผจญภัย ช่างจินตนาการ แต่ไม่เคยหลุดจากความเป็นจริง

วินัยเล่าว่า ในวัยเด็กเขามีหนังสือโปรดเป็น การผจญภัยของตินติน ของ จอร์จ เรมี , เฒ่าผจญทะเล ของ เออร์เนสต์ แฮมมิงเวย์ และหนังสือของ โจนาธาน ลิฟวิงตัน

เขานิยามว่า การสะสมการอ่านในวัยเด็กของเขาคือ การฝึกฝน "การถอดรหัสตัวหนังสือเป็นภาพ" แต่การอ่านเหล่านั้นเป็นเพียง "จินตนาการที่ไร้การตรวจสอบ"

กระทั่ง วินัยได้อ่าน ลูกอีสาน ที่ตีพิมพ์ใน นิตยสารฟ้าเมืองทอง ขณะที่เขาเองได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ที่ชัยภูมิ

"ผมอ่านลูกอีสานอยู่ เงยหน้ามาปุ๊บ เห็นของจริงเลย ตรวจสอบได้ทันที ตอนนั้น ก็มีเพื่อนๆ มาชวนไปผจญภัย ตกปลา ล่ากะปอม หามดแดง มันอยู่ในเรื่องนี้หมด พอเห็นของจริงเข้า ก็รู้สึกเหมือนเราได้ตรวจสอบจิ
นตนาการกับของจริง ไม่เหมือนตอนเป็นเด็กกรุงเทพฯ อ่านแล้วไม่เห็นของจริง"

"การอ่าน" และ "จินตนาการที่ตรวจสอบได้" นี่เองที่วินัยบอกว่า เป็นรากฐานสำคัญในการเป็นช่างภาพข่าวหรือสารคดีของเขาในเวลาต่อมา

นอกเหนือจากการอ่าน ชีวิตในอีสานคือ การได้รู้จักวิถีชีวิตที่แตกต่าง ได้เห็นความยากแค้นในอีสาน และได้เข้าใจความยากจน

หลังจากอยู่ชัยภูมิได้ 4- 5 ปี ครอบครัววินัยก็ย้ายกลับมากรุงเทพฯ การเดินตามความฝันของพ่อไม่ใช่อย่างที่คิดไว้ และเงินทั้งหมดของครอบครัวเทไปบนแผ่นดินอีสานแทบหมด


ภาพถ่ายเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2553

>>กระเป๋ารถเมล์อินเตอร์


เมื่อวินัยเริ่มเรียนชั้นม.1-2ก็ต้องเริ่มทำงานหาเงินเพื่อให้ได้ค่าขนมเพิ่มเริ่มจากการขายของจำพวกธูป เทียน สมุดฉีก และเรียงเบอร์เร่ไปขายตามบ้านคนจีน แต่สินค้าที่เขาขายและนำพาเขาให้สนใจโลกที่กว้างขึ้นคือการขายเทปผีเพลงสากล และโปสเตอร์รูปวงดนตรีดาราฝรั่ง

"ตอนนั้นต้องหิ้วรายชื่ออัลบั้มพร้อมรูปหน้าปกไปให้ลูกค้าสั่งเพลงแล้วอัดมาส่งจะขายให้ได้ต้องฟังเพลงฝรั่งต้องรู้เนื้อเพลงเอาเนื้อร้องเพลงจากหนังสือISSongsHit มาให้รุ่นพี่หรือญาติแปล เพราะอยากฟังรู้เรื่อง ก็เป็นจุดสำคัญที่ได้เห็นความเป็นสากล"

จนเมื่อวินัยอายุ 15 ปี เขาก็ออกจากโรงเรียน และยึดอาชีพกระเป๋ารถเมล์ เพราะพ่อซึ่งทำงานโรงงานประสบอุบัติเหตุที่มือ

เขาเล่าว่า เขาโตบนรถเมล์ จากที่จับราวไม่ถึง ต้องเกาะเอวลุงป้าผู้โดยสาร กระทั่งแขนเอื้อมถึงราว

"เป็นกระเป๋ารถเมล์ก็แย่ตรงที่สังคมดูถูก หมายถึงว่า รถติด รถไม่จอดป้าย รถเร็ว กระเป๋ารถเมล์จะโดนตลอด จิ๊กโก๋ไม่จ่ายตังค์ เจอคนกวนตีนโดนตลอด ตอนนั้นเป็นความทุกข์นิ๊ดๆ แต่ก็สุขที่ว่า คนอื่นต้องไปโรงเรียนแต่เราไม่ต้อง กลับบ้านดึกได้ โลดแล่นได้ มีประสบการณ์ชีวิต ได้ประสบการณ์ข้างถนน" วินัยเล่า

ไปๆ มาๆ เขาถลำไปกับอาชีพนี้ 7 ปี แต่ระหว่างทางของการเป็นกระเป๋ารถเมล์ เขายังติดใจกับความรู้ที่ไกลตัว โดยเฉพาะเรื่องที่ "อินเตอร์" ทั้งหลาย

วินัยยังรักการอ่านเหมือนเคย เขาเก็บตังค์ซื้อหนังสือต่างประเทศ (เกี่ยวกับหนังและเพลง) และดิกชันนารี พกไว้ในย่าม ไว้อ่านระหว่างเก็บค่าโดยสารบนรถเมล์

จนกระทั่งเขาอ่านนิตยสาร สารคดี เรื่อง พลร่มหน่วยจู่โจม โดยมี สกล เกษมพันธุ์ เป็นช่างภาพ วินัยเกิดความสนใจจริงจัง อยากเปลี่ยนวิชาชีพจากกระเป๋ารถเมล์ มาสมัครเป็นทหาร เพราะเหตุผลว่า นี่คือความฝันที่เป็นไปได้


ภาพถ่ายประเด็นยาเสพติด

>>กล้องตัวแรก


"เราเป็นคนจน ฝันอะไรต้องเอาตัวเข้าไปแลก"
คือสิ่งวินัยเพียรทำ

ช่วงที่วินัยเป็นทหารนี่เอง ที่เขาขยับเข้าใกล้การถ่ายภาพอีกนิด ด้วยการใช้เวลาว่างสมัครเรียนทางไปรษณีย์ กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แม้ไม่มีวุฒิม.6 แต่ก็สามารถใช้เงื่อนไขประสบการณ์การทำงานมา 6-7 ปี สมัครเรียนได้

เขาเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ ด้วยเหตุผลว่า มีวิชา "ช่างภาพนิ่ง" อยู่ในหลักสูตร ก่อนหน้านั้น วินัยสนใจกล้องและการถ่ายภาพตั้งแต่เป็นกระเป๋ารถเมล์ แต่ไม่ได้ใส่ใจกับมัน เพราะคิดว่ากล้องเป็นของแพง และเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

"ตอนไปสอบวิชาถ่ายภาพ 150 ข้อ มั่นใจเลยว่าผิดไม่เกิน 10 ข้อ แต่ยังใส่ฟิล์มไม่เป็น เพราะไม่มีกล้อง แต่เรารู้หมด อ่านจนเชื่อมโยงในหัวได้ แต่ไม่เคยได้ปฏิบัติ"


วินัยเป็นทหารได้ 2 ปี ก็ออก เพราะกองทัพปรับงบประมาณ และไม่มีตำแหน่งพลร่ม อย่างที่เขาต้องการ เป้าหมายถัดไปของเขา ณ เวลานั้นคือ การหยุดถ่ายภาพในความคิด และมีกล้องของตัวเองในมือ

กล้องตัวแรกของวินัยคือ การสะสมเงินอย่างจริงจัง ระหว่างที่ทำงานเป็นคนงานในโรงงานยา หลังจากอาชีพทหาร วินัยไปกลับบ้านระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อไปกินข้าวบ้าน

"ตอนนั้น เดินไปท่องไป NIKON FM2 NIKON FM2 แต่ไปๆ มาๆ มันไม่ไหว ซื้อ PENTAX K1000 มือสองแทน พอได้กล้อง ก็ต้องเก็บเงินอีกเดือนซื้อฟิล์ม แล้วอีกเดือนถึงได้เก็บเงินไปล้าง"

"ในชีวิตเสียตังค์ ซื้อล้างฟิล์ม 2 ม้วน ม้วนแรกจริงๆ ตอนเป็นกระเป๋ารถเมล์ ยืมกล้องลุงถ่ายตอนไปพัทยา ส่วนม้วนที่ 2 ก็คือถ่ายด้วย K1000 นี่ล่ะ"


ผลงานในเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกเดือนพ.ค.
>>ช่างภาพหมา

"ผมถ่ายรูปเป็นเพราะหมา ต้องขอบคุณมัน"

หลังจากออกจากโรงงาน วินัยสมัครงานในตำแหน่ง "ผู้สื่อข่าวธุรกิจ" ของนิตยสารเกี่ยวกับสุนัขเล็กๆ แห่งหนึ่ง

เจ้าของบริษัทรับวินัยเข้าทำงาน เพราะเขายืนยันทุกวิถีทางว่าเขาทำงานได้ แม้ทั้งชีวิตเคยถ่ายรูปมาเพียง 2 ม้วน

เมื่อได้งานจริงๆ ถึงรู้ว่า เงินเดือนได้น้อย และต้องทำทุกอย่างในบริษัท ต้องพ่วงตำแหน่งเออี ภารโรง เขียน และถ่ายรูป แต่ตอนนั้น เขาคิดแค่ว่า "เอาอย่างนี้ก็ได้วะ ยังไงก็ดีกว่าทำงานโรงงาน อย่างน้อยก็ได้ถ่ายรูป"

"ผมเป็นคนขาดๆ เกินๆ เรามันจนตรอก ก็ต้องแก้ปัญหา ทำยังไงก็ได้ให้ได้งาน ได้เงิน ผมไม่ง้อระบบเพราะไม่มีตัวเลือกให้ง้อ วุฒิไม่ถึง เงื่อนไขการช่วยเหลือในสังคมก็ต้องจบวุฒิอะไรสักอย่าง ผมไม่ได้อยู่ในระบบสักอย่างเลย ไม่สมบูรณ์ และสุดท้ายก็ต้องพึ่งตัวเอง"
วินัยยอมรับว่า เขามีกุญแจสำคัญในด่านนี้คือ ความอดทน และที่ถ่ายรูปเป็นก็เพราะหมา แท้ที่จริงแล้วการถ่ายรูปประเภทนี้คือ การรอคอย ที่ยากก็คือ ความอดทนเท่านั้นเอง


สมุดบันทึกคัมภีร์ส่วนตัว

>>เก็บ เกี่ยว โกย


นับแต่วินัยเข้ามายึดสนามอาชีพช่างภาพแล้ว ทุกประสบการณ์คือนาทีแห่งการเก็บ-เกี่ยว-โกย

ในชีวิตวินัยพูดว่า "ทำได้" ไว้ก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหาทีหลังเสมอ ทั้งตอนที่เข้าไปเป็นช่างภาพให้แมกกาซีนท่องเที่ยวภาษาอังกฤษ Bangkok This Week และตอนได้เข้าไปร่วมงานกับ บางกอกโพสต์

วินัยเพียรฝึกฝน เรียนรู้การถ่ายภาพจากความผิดพลาด เขาบอกว่า ถ้าเขาพลาด  เขาจะจำและเชื่อมโยงวิธีแก้ไขอย่างรวดเร็ว หลังจากถู่ลู่ถูกังไปจนครบ 4-5 เดือน เขาจึงเริ่มมั่นใจในการทำงาน

วินัยจดบันทึกการเดินทางเสมอ เขาจดทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้
ามา เรียกได้ว่ามันคือ คลังความรู้ชั้นดีของเขา ไม่ว่าเรื่องภาพถ่าย สเก็ตซ์มุมกล้อง แสง เวลาน้ำขึ้นน้ำลง และทิศต่างๆ ของสถานที่ที่ไป คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่พบเจอ หรือกระทั่งรื้อเลนส์เล่นออกมาเป็นชิ้นๆ ก็จดไว้ แล้วค่อยประกอบคืน เขาเขียนไว้ทั้งหมด

ระหว่างการเก็บเกี่ยว เขามองเห็นช่องทางในการเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ จึงเบนเข็มตัวเองออกมาถ่ายภาพสต็อกช็อต สถานที่ต่างๆ ในไทยให้เอเจนซี่ต่างชาติ แต่เขารู้ว่างานนี้ไม่รุ่ง และต้องเปลี่ยนงาน ปัญหาคือ เงินทุนในการทำงานไม่เพียงพอ

วินัยกลับเข้ามาอยู่ในระบบ โดยมาร่วมงานกับบางกอกโพสต์ ตั้งเป้าว่าชีวิตต้องมีบั
ตรเครดิต เพื่อแก้ปัญหาการเงิน ใช้หมุนเงินในการเป็นฟรีแลนซ์ในอนาคต ส่วนอีกเป้าหมายคือ ตักตวงความรู้เทคนิคถ่ายภาพด้วยการใช้ไฟสตูดิโอ

เขาครูพักลักจำการจัดไฟถ่ายภาพในสตูดิโอหมั่นจดลงสมุดไปศึกษาเพียงเวลา1-2เดือนเขาก็ได้รับการยอมรับในฝีมือ และได้รับมอบหมายให้ถ่ายปก Sunday Magazine แทบทุกฉบับ

>>นัก"ตัดต่อพันธุกรรม"

โอกาสในการเป็นช่างภาพในสนามข่าวอินเตอร์มาถึงวินัยและแน่นอนว่าคนอย่างเขาฉวยมันไว้

ขณะนั้นยูโรเปียน เพรส เอเจนซี่ มาเปิดออฟฟิศในไทย เขาได้เข้าไปเป็นช่างภาพคนแรก แต่ปัญหาในการร่วมงานกับที่นี่ไม่ใช่การถ่ายภาพ กลับเป็นปัญหาในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเขียนแคปชั่นประกอบภาพถ่ายข่าว

วินัยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยกลยุทธ์นัก"ตัดต่อพันธุกรรม"ถอด-เปลี่ยน-สลับคำชื่อและข้อมูลต่างๆลงไป

เขาเล่าว่า"งานแรกที่ได้รับมอบหมายให้ถ่ายราชินีช้างเจ้านายโทรมาด่าจากอินโดนีเซียว่าทำไมส่งรูปช้าแต่ผมไปติดตรงคำว่า"ทำผม" เป็นภาษาอังกฤษ คิดไม่ออก เขียนแคปชั่นไม่ได้"

"ตอนนั้นตื่นเต้น เครียด ใจสั่น พอได้รับสายเจ้านายก็ลนไปหมด ทำมึนไปก่อน ตอนนั้นใช้วิธีลักไก่ รอให้รูปคู่แข่งเด้งขึ้นมา "hair maker" รีบก็อปปี้คำ เอาไปตัดต่อพันธุกรรม รีบปะคำกับเนื้อข่าวเบรกกิ้งนิวส์ที่หาไว้ก่อนหน้า สลับที่โยกย้าย แล้วก็ส่งเลย ในใจคิดว่า รอดละกู"

"ปกติจะรู้ล่วงหน้าว่าจะไปถ่ายอะไร ก็หาข่าวล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องเก็บไว้ เราจะมีสมุดติดตัวเล่มใหญ่มาก เป็นเรื่องน่าขบขันสำหรับคนอื่นนะ แต่ผมพูดอังกฤษไม่ได้ก็ต้องแก้ไขแบบนี้ ต้องมีระบบที่ไม่ให้ตัวเราพ่ายแพ้ คิดในใจอยู่ว่า ถ้าเขาไล่ออก ก็เริ่มต้นใหม่ก็ได้ ไม่ยอมแพ้ ไม่มีอะไรจะเสีย ไม่ได้เดี๋ยวค่อยกลับมาใหม่"


ภาพถ่ายกลุ่มหน้ากากขาว

>>สื่อสารกับโลก

ตลอดระยะเวลาการทำงานเป็นช่างภาพ 22 ปี วินัยได้คำตอบกับตัวเองแล้วว่า เขารักที่จะ "สื่อสารกับโลก" ในประเด็นที่เขาสนใจ ต้องการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพของตัวเอง เพื่อที่ทั้งโลกจะได้รู้จักเรา

"เมื่อความฝันกับความจริงไม่สัมพันธ์กัน ก็ต้องหาทางใหม่ วิชาชีพนี้ต้องโตในเวทีสากล ในเมืองไทยไม่มีทุนให้ทำงาน จะทำงานประเภทรูปพร้อมเรื่องภาษาไทย 1,500 บาท มันก็เท่านั้น"

ทุกวันนี้ วินัยศึกษาภาษาอังกฤษอยู่เสมอ ฝึกเขียนจดหมายเสนอโครงการไปยังองค์กรนานาชาติต่างๆ เพื่อมาเป็นต้นทุนในการทำสิ่งที่รัก  เขาสนใจและติดตามประเด็นยาเสพติด การเมืองไทย และความขัดแย้งในภาคใต้ ทุกประเด็นต่างอันตราย แต่นั่นคือสิ่งที่เขาเลือกแล้วว่าจะทำ

ประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับอีพีเอทำให้เขารอบด้านมากขึ้นการทำงานกับฝรั่งทำให้ได้ทักษะการทำงานข่าวได้ความมั่นใจความเป็นระเบียบวินัยและไม่มีคำว่า "พลาด" เด็ดขาด

เขาได้เรียนรู้ว่า การถ่ายภาพข่าวมีจริต ขนบ และวิธีคิดของมันอยู่ ภาพข่าวต้องกระชับและสื่
อสารครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องสวย ต่างจากภาพสารคดีที่จะมีศิลปะเข้าไปอยู่ในเนื้องานมากกว่า

วินัยในวัย 48 ปี ยังเป็นคนหนุ่มที่มุ่งเก็บเกี่
ยวภาพถ่ายในประเด็นสังคม และการเมืองอย่างใกล้ชิด ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา วินัยสะพายกล้องออกจากบ้าน สิ่งที่เขาได้กลับมาคือ ภาพกลุ่มคนเสื้อแดงชักว่าวเพื่ออิสรภาพแด่สมยศที่สนามหลวง และภาพกลุ่มต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่สวมหน้ากาก หน้าเซ็นทรัลเวิล์ด

"มืออาชีพ" น่าจะเป็นคำเดียวที่วินัยต้
องได้รับเป็นคำนิยาม


ภาพกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยชักว่าวสนามหลวง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น